วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555


ยุคหลังสมัยใหม่ (THE POST MODERN ERA)
หลังสมัยใหม่ คืออะไร
         หลังสมัยใหม่ เป็นคำที่มีหลายความหมาย ซึ่งไม่ได้มีขึ้นมาโดยตัวของมันเอง แต่มีขึ้นมาจากการเทียบเคียงกับสมัยใหม่  อย่างไรก็ตาม เราคงไม่สามารถหาวันเวลาที่แน่ชัดของการกำเนิด หลังสมัยใหม่ว่าเกิดขึ้นเมื่อใด ประมาณว่าในช่วงระหว่างทศวรรษที่ 60-70ได้เริ่มมีการพูดถึงประเด็นในเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในแวดวงของวรรณกรรมและศิลปะ
           Ihab Hassan ได้ให้คำจำกัดความ “หลังสมัยใหม่” ว่าเป็นยุคที่ไม่สามารถกำหนดได้ ซึ่งเขาหมายถึง “อาณาบริเวณที่วาทกรรม”ต่างๆ ทำหน้าที่ของมัน โดยที่ความหลากหลายของแนวคิดจะช่วยให้เราตระหนักถึง “รหัส” ที่อยู่รอบๆ ตัวของเรา โดยเฉพาะที่ปรากฏอยู่ในภาษา Hassanได้พยายามรวบรวมลักษณะของแนวคิดแบบหลังสมัยใหม่ที่ปรากฏอยู่ในงานด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้าน ภาษาศาสตร์ ทฤษฎีวรรณกรรม ปรัชญา มนุษย์วิทยา รัฐศาสตร์ ตลอดจนเทววิทยา จากนักคิด นักเขียนหลายๆ กลุ่มทั้งจากยุโรป และอเมริกา โดยทำการเปรียบกับรูปแบบที่ปรากฏในงานของสมัยใหม่นิยมจากการรวบรวมของ Hassan แนวคิดของหลังสมัยใหม่ มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากสมัยใหม่ ดังตารางเปรียบเทียบสภาวะสมัยใหม่กับสภาวะหลังสมัยใหม่ตามแนวคิดของ Hassan ดังนี้

          จากตารางการเปรียบเทียบตามแนวคิดของ Hassan ดังกล่าว อาจสรุปได้ว่า ลักษณะของหลังสมัยใหม่มีลักษณะที่สำคัญ คือ เป็นลักษณะของความแตกต่าง, เป็นลักษณะของความสัมพัทธ์, เป็นลักษณะของความไม่ต่อเนื่อง, เป็นลักษณะของการกระจัดกระจายและเป็นลักษณะของความไร้ระเบียบนั้นเอง
จุดเด่นของแนวคิดหลังสมัยใหม่
          Lyotard เห็นว่าลักษณะเด่นของแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม คือ วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับความชอบธรรมของความรู้ในยุคหลัง-อุตสาหกรรม เงื่อนไขของความเป็นหลังสมัยใหม่ คือ การล่มสลายของเรื่องเล่าขนาดใหญ่หรืออภิมหาเรื่องเล่า  นั่นเอง แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม จะช่วยให้เรามองเห็นความแตกต่างท่ามกลางภาพกว้างของกระแสหลัก ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เราเห็นความแตกต่างละทิ้งความซ้ำซากแล้วหลังสมัยใหม่นิยม มีพลังสูงพอสมควรในการเขย่ารากฐานและระบบความคิดที่แข็งทื่ออย่างเช่น ปรัชญา วัตถุนิยม จนเกิดการพังทลายและมีความว่างเกิดขึ้นนำไปสู่การสังเคราะห์ใหม่ระหว่างสสาร/ความคิด และที่สำคัญคือ หลังสมัยใหม่สอนให้เรารู้จักคิดแบบองค์รวม  ซึ่งทำให้การศึกษาทางสังคมศาสตร์มีความถ่อมตัวมากขึ้น ในการอ้างถึงความรู้ที่ศึกษาวิจัยมา อย่างน้อยก็ลดระดับการอธิบายการอ้างถึงความสมบูรณ์ของความรู้ครอบคลุมไปหมด จุดเด่นของหลังสมัยใหม่ที่กล่าวมาย่อมแสดงให้เห็นแล้วว่า หลังสมัยใหม่เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาและการท้าทายที่ทำให้การอ้างถึงความรู้ที่มีอยู่ในการศึกษาทางสังคมศาสตร์ไม่เป็นแบบเกินเลยและถ่อมตัว/ถ่อมตนมากขึ้น โดยถือว่าความรู้ทุกอย่างล้วนเป็นวาทกรรมทั้งสิ้น
จุดด้อยของแนวคิดหลังสมัยใหม่
           อย่างไรก็ตามแม้ว่า หลังสมัยใหม่ไม่ได้เสนออะไรที่เด่นชัดมากนัก เพราะตัวหลังสมัยใหม่เองเป็นเพียง "กระแสความคิด" มากกว่าจะเป็น "สำนักคิด" ที่มีระเบียบวิธี, ปรัชญา และเป้าหมายในการศึกษาที่ชัดเจนตายตัว แต่อย่างไรก็ดีไม่ได้หมายความว่าหลังสมัยใหม่จะไม่มีอะไรเลย และไม่มีอะไรที่เป็นแก่นสารอยู่ข้างใน  สำหรับผู้เขียนแล้ว นี้ก็เป็นการกล่าวหากันเลื่อนลอยจนเกินไป
อิทธิพลที่มีต่อศิลปะในยุคหลังสมัยใหม่
      การปฎิเสธศูนย์กลาง ก็คือ การปฎิเสธอำนาจครอบงำ เน้นชายขอบซอกมุม เพื่อปลดเปลื้องการครอบงำทางด้านเวลา เทศะ และอัตลักษณ์ที่ยังหลงเหลืออยู่ ดังปรากฏในสถาปัตยกรรมจำนวนมากที่เลิกเน้นศูนย์กลาง และการปฎิเสธความเป็นเอกภาพ หรือ องค์รวม ภาพเขียนหรือสถาปัตยกรรมจึงไม่จำเป็นต้องจบสมบูรณ์อาจเป็นหลายเรื่องซ้อนเร้นกัน    
     ศิลปะยุดหลังสมัยใหม่โดยรวมแล้วจะคัดค้านโครงสร้างระเบียบ ลำดับ ไม่ยึดติดกับโครงสร้างเพราะถือได้ว่าเป็นแนวคิดหลังโครงสร้างนิยม และแนวคิดนี้จะต่อต้านจุดเริ่มต้นทางประวัติศาสตร์แต่จะโหยหาอดีต เนื่องจากความไม่มั่นคงทางอัตลักษณ์ อดีตของพวกเขาไม่ใช่ประวัติศาสตร์ แต่เป็นการทำลายประวัติศาสตร์เพราะมันถูกนำมาอยู่ในปัจจุบันหรือหลุดไปจากบริบทอย่างสิ้นเชิง

สังคมในยุคหลังสมัยใหม่
     ยุคหลังสมัยใหม่กำลังก้าวเข้ามาแทนที่ยุคสมัยใหม่อย่างท้าทาย ด้วยนัยแห่งการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม อาทิ เช่น


1. ลักษณะทางเศรษฐกิจที่ก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจแบบบริโภคนิยมมวลชน (Mass Consumerism)  ความเป็นยุคทุนนิยมตอนปลาย

2. ลักษณะการผลิตเป็นแบบหลังอุตสาหกรรม (Post-Industrial) ความเป็นสังคมข่าวสาร สังคมที่ประกอบขึ้นจากการจำลอง

3. ลักษณะล้ำความจริง (Hyperreality) การยุบตัว (Implosion) รวมถึงรูปแบบใหม่ทางเทคโนโลยีและวัฒนธรรม เป็นยุคที่สื่ออิเลคโทนิคส์ ซึ่งสามารถตัดข้ามผ่านพื้นที่ทางกายภาพจะเข้ามาแทนที่ "ชุมชน" อันจะทำให้แนวคิดเรื่องสังคมจะกลายเป็นเพียงภาพลวงตา
                        ***************************************************         
ที่มา :

















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น